top of page
  • wejpschool

ไม่ผ่าน N2 เพราะเรียนผิดๆ แบบนี้ไง By. ครูปุ๊


ใครๆ ก็อยากสอบผ่าน JLPT N3-N2-N1 ทั้งนั้นหล่ะค่ะ ก็ใบพวกนี้เอาไปยื่นสอบทุนมง ไปสมัครเรียนต่อญี่ปุ่น ไปขอเพิ่มเงินเดือน ไปสมัครงานได้ตั้งเยอะ หรืออย่างน้อยก็ทำให้ภูมิใจเวลาถูกถามว่า “พี่สอบได้ระดับไหนแล้วคะ”


แต่ทั้งที่ซื้อหนังสือติวสอบที่ว่าดี ที่ว่าครบเครื่อง อ่านก็แล้ว พยายามก็แล้ว แต่ก็ยังสอบไม่ผ่าน วันนี้ครูปุ๊ขอรวบรวม ความผิดพลาด พร้อมทางแก้ไข ให้กับคนเรียนภาษาญี่ปุ่นชั้นกลาง สูง ตั้งแต่ N3-N2-N1 ที่ทำอย่างไรก็สอบไม่ผ่านสักที สอบหลายรอบจนท้อ หรือบางคนยิ่งสอบคะแนนยิ่งร่วงก็มีค่ะ (ว้าย)

ขอบอกก่อนว่า ทุกข้อ “อ่านแล้วปวดจี๊ด” แน่นอนค่ะ



1) เรียนผิดลำดับ


อยากสอบผ่าน หลายคนก็เลยเลือกเรียนแบบ “ติวให้สอบผ่าน” หรือซื้อหนังสือมาอ่าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบเข้มข้นแนว “จำคำแปลไทย” ไปสอบ แต่เวลาทำข้อสอบกลับเลือกคำตอบไม่ได้ รู้ความหมาย แต่ไม่รู้ ”เจตนา” ของรูปประโยคจริง ๆ ไม่รู้ว่าเชื่อมแบบนี้ ครึ่งหลังต้องเป็นแนวไหน ช้อยส์ทุกข้อเลยถูกไปหมด เครื่องฟิตแต่สตาร์ทไม่ติดกันเลยค่ะคราวนี้

จริงๆ แล้ว คอร์สติวสอบวัดระดับ หรือหนังสือเตรียมสอบ มีประโยชน์และจำเป็นมากนะคะ แต่เหมาะเพื่อ “ทบทวน” สำหรับคนที่เรียนมาครบแล้วหรือยังขาดอีกนิด แต่ต้องสอบแล้ว หรืออยากสอบให้ได้คะแนนสูง ๆ แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นการ “ทดแทน” การเรียนในระดับนั้นๆ

สำหรับนักเรียนที่ต้องการใบสอบผ่านแบบ “ฉุกเฉิน” จริงๆ แบบไม่มีเวลาเรียนแล้ว ก็เรียนได้ค่ะ แต่เมื่อสอบผ่านแล้ว ต้องยอมย้อนกลับมาเรียนตามลำดับขั้นก่อนเสมอ อย่าเอาแต่สอบๆๆ ไปเรื่อยๆ นะคะ


ทางแก้ : เรียนชั้นสูงแบบตอนเราเรียนชั้นต้นซิคะ เรียนอย่างเป็นระบบ ไต่ไล่ไปเรื่อยๆ ฝึกพูด ฝึกเขียน ฝึกอ่าน ตอนสอบ N5 N4 หลายคนผ่านได้ไม่ต้องติว เพราะความรู้ถึง เรียนถึงไงคะ ผ่านสบาย จำได้ดี ใช้ได้จริงถึงทุกวันนี้ นั่นคือการเรียนที่ถูกลำดับค่ะ จะได้แก้ปัญหาว่า ทำไมสอบได้ N2 แต่พูดได้แค่ N4 ได้ด้วย (โอยย ความจริงที่เจ็บปวด)


2) ใจร้อนไปหรือเปล่า


“ก็สอบผ่าน N3 แล้ว ก็ไปต่อ N2 เลย ไม่อยาก ตะมุตะมิ อยู่ที่เดิมแล้ว” หลายคนคิดแบบนี้ใช่ไหมคะ

แม้จะเรียนตามขั้นตอนก็จริง แต่พอสอบผ่าน N3 ผ่านแล้ว หลายคนก็พาลดีใจ ขอข้ามชั้นไปเริ่มเรียน N2 เลย ปัญหาจะเริ่มก่อตัวมาคุกันตอนนั้นนั่นหล่ะค่ะ

และยิ่งถ้าเป็นพวก “ติวไปสอบ” ไม่ได้เรียนตามขั้นตอนยิ่งหนักเลยค่ะ ค้างเติ่งกันที่ N2 ระดับบอกทางไปห้องน้ำที่จุฬาฯ กันได้แม่นยำเลย ฐานที่มาทำวิจัยข้อสอบกันทุก 6 เดือน


ลองคิดง่าย ๆ คือ หากสอบได้ N3 ได้ 60% (เกณฑ์สอบปัจจุบัน 50% นิดๆ ก็ผ่านแล้ว) แล้วไปต่อ N2 เลยทันที แล้วความรู้ที่เป็นรากฐานอีก 40% ของระดับเดิมหล่ะคะ รวมถึงคำศัพท์ รูปประโยค ทักษะอีก 100% ใหม่ของ N2 ด้วยนะคะ 140% เลยนะคะ ศึกหนักขนาดนี้ ในเวลา 6 เดือน พร้อมแล้วจริงเหรอคะ


หลายคนที่สอบไม่ผ่าน N2 ไม่ใช่เพราะไม่รู้ N2 แต่เพราะไม่ยอมรับว่าตัวเอง “ไม่รู้ N3”ค่ะ

และเช่นกัน หลายคนที่สอบไม่ผ่าน N1 ไม่ใช่เพราะไม่รู้ N1 แต่เพราะไม่ยอมรับว่าตัวเอง “ไม่รู้ N2”ค่ะ (กลุ่มนี้เขาก็ปัญหาเยอะพอตัว)


ทางแก้ : ปรกติจะแนะนำนักเรียนของตัวเองค่ะว่า ถ้าไม่ผ่าน 80% ของระดับเดิม จะไม่ค่อยอยากให้สอบระดับต่อไปค่ะ (ยกเว้นต้องรีบเอาระดับไปใช้ยื่นอะไรสักอย่างนะคะ) หรือถ้าผิดล่วงเลยไปแล้ว ก็มีหลายคนที่แนะนำให้เรียน N3 เพื่อสอบผ่าน N2 หรือ ให้เรียน N2 เพื่อสอบผ่าน N1 ได้ผลมาเยอะแล้ว เก็บให้ครบทุกระดับแบบเป็นพื้นฐานแน่น ๆ ไปต่อชั้นสูงก็ง่ายขึ้นค่ะ



3) ไม่เอาคันจิ


“คันจิ” นี่ ไม้เบื่อไม้เมา ขัดแข้งขัดขา กับเราตลอดมา แต่ต้องรับให้ได้ว่า “คันจิ” คือ “คำศัพท์” และคำศัพท์ คือประธาน กริยา กรรม เวลา สถานที่ วิธีการ ยานพาหนะ คือเป็นทุกอย่างในประโยค ในบทความที่เราอ่าน

ให้สังเกตนะคะว่า เวลาที่เราอ่านบทความแล้วเจอคันจิที่แปลไม่ออก เราจะเห็นมันเป็น “ปื้นๆ สีดำ” และถ้าปื้นนั้นมันเยอะไปหมด เราก็เหมือนเป็นคนตาบอด คลำความหมายไม่ถูก กลับตัวไม่ได้ ไปไม่ถึง บางคนสอบเสร็จยังไม่รู้เลยว่า บทความนี้เกี่ยวกับเรื่องอะไร ก็เพราะอ่านคันจิไม่ออกไงคะ

คนที่ทำข้อสอบ”การอ่าน” ไม่ทันเวลา (การอ่านเป็นคะแนน 1 ใน 3 เลยนะคะ) ก็เพราะคำศัพท์เป็นหลักเลย รองลงมาคือการตีความ หรือ ทักษะการอ่าน นั่นแหล่ะค่ะ


ทางแก้ : รู้ให้ได้ก่อนว่า ในแต่ละระดับ มีคันจิที่ต้องรู้แค่ไหน (N5-150 / N4-300 / N3-600 / N2-1200 / N1-1800) อันนี้ยังไม่รวมคำศัพท์ที่เกิดจากคันจินั้นนะคะ (โอ้ย สลบ) และให้วางแผนการเรียน ที่เสริมคันจิไปพร้อมทุกทักษะเสมอนะคะ


ฝึกคัดเยอะๆ คัดไปออกเสียงตามไปด้วยเสมอ อย่าคัดแค่ “ตาและมือ” นะคะ เอา “หูและปาก” คัดตามไปด้วย

คันจิใหม่หนึ่งตัว ครูคัดประมาณ 40 ครั้งขึ้นไป ถ้าซับซ้อนก็ 50 ครั้งค่ะ ถึงจะเขียนได้ จำได้แม่น ดังนั้นถ้าเราคัด 20 ครั้งแล้ว บอกว่ายังจำไม่ได้ ก็ไม่ยากค่ะ แค่อาจจะต้องเพิ่มจำนวนแค่นั้น (แต่ถ้าใครคัด 20 ครั้งแล้วจำได้ ก็โอเคเลยค่า เป็นมงคลชีวิตจริงๆค่ะ)


เอาไว้จะมาบอกเทคนิคการจำคันจิอีกทีนะคะ



4) ขอผ่านคำช่วย


หลายคนบอกว่า “พูดในที่ทำงาน หรือกับคนญี่ปุ่น ไม่มีคำช่วยก็สื่อสารรู้เรื่องนะ”

ช่ายค่ะ เพราะในการสื่อสารชั้นต้นทั่วไป อาจจะใช้แค่คำศัพท์เฉพาะเป็นหลัก พอจะหลุดคำช่วยได้นิด ๆ แต่ในการสอบวัดระดับ หรือในการเขียนเมล เขียนรายงาน อ่านข่าว เซ็นสัญญา หรืออะไรที่เป็นทางการมากขึ้น (ซึ่งค่าตอบแทนก็สูงเป็นเงาตามไปด้วย) คำช่วยคือ”กุญแจบู๊ลิ้ม”เลยค่ะ


“คำช่วย” มีหน้าที่บอกว่า คำข้างหน้าเป็นอะไรในประโยค เป็นประธาน เป็นกรรม เป็นสถานที่ ฯลฯ

เหมือนถ้าเราไม่รู้ว่านี้คือ มือ เท้า ขา แขน ม้าม ตับ เราก็ไม่รู้ว่า รวมแล้วนี่คือตัวอะไร ต่อให้หยิบชิ้นส่วนมาประกอบร่างใหม่ของตัวเองก็ยังไม่ได้ เพราะจับต้นชนปลายไม่ถูก เสียเวลาสอบ เสียอนาคตไปหมด


จริง ๆ คำช่วย ต้องช่วยเรานะคะ ไม่ใช่ ช่วย”ฉุด” เรา


ทางแก้ : ให้ไปฝึกคัดตัวบทความ หรือประโยคตัวอย่างที่เรียนไปทุกครั้ง คัดสดๆ ทุกคำด้วยมือเรานี่แหล่ะค่ะ (อย่าเพิ่งโอดครวญนะคะ วิธีนี้เห็นผลจริงแน่นวล) พอจบประโยคปุ๊บก็ให้อ่านทบทวน แล้ววงล้อมรอบ ”คำช่วยทุกคำ” ในประโยคนั้นด้วยปากกาสีอื่น ลองฝึกแยกคำช่วยออกมาได้ก่อน แล้วค่อยตีความทีละประโยค รับรองว่าเก่งขึ้นอย่างไว ชัวร์


คราวนี้รู้แล้วนะ เวลาพวกนักแปลหรือพวกล่ามเก่งๆ เวลาได้บทความมา เขาจะเอาปากกามาวงฉับๆ เลยค่ะ วงอะไรรู้ไหม “คำช่วย” ล้วนเลยค่ะ



5) ทบทวนไม่ครบทักษะ


“เรียนตามขั้นตอนก็แล้ว คำศัพท์ คันจิ คำช่วย ตีความ ก็แม่นแล้ว แต่ถึงเวลาสอบ ก็ยังทำไม่ได้”


ความจริงที่โหดร้าย เหมือนสึนามิถาโถม ตรงมาที่เราแต่เพียงผู้เดียวในห้องสอบก็ไม่ปาน เศร้าใจหลาย

แล้วทำไมไม่ฝึกทำข้อสอบจริงก่อนไปสอบหล่ะคะ ไปสอบยังไม่รู้เลยว่า มีเวลาสอบกี่ชั่วโมง ข้อสอบทั้งหมดมีกี่ข้อ บทความยาว-กลาง-สั้น มีกี่เรื่อง การฟังมีกี่พาร์ท เร็วแค่ไหน แล้วที่เอาลูกศรชี้ไปที่หัวคนในรูป คือโจทย์อะไร เขาอ่านช้อยส์กี่ครั้ง เอ้า แล้วนี่จะวงยังไงดี

โอย โอย... กว่าจะทำได้ โน่นค่ะ ข้อ 4 ค่ะ หลังจากหมุนซ้ายขวาไปหลายรอบ เจอแต่สายตากรรมการ และแอร์ที่เย็นฉ่ำคอยตอกย้ำในวันที่สายไป


ทางแก้ : ฝึกทำข้อสอบตัวจริง เยอะๆ มาด้วยเลยค่ะ แบบฝึกหัดท้ายบทตอนที่เราเรียน เน้นการฝึก ”ทำให้ถูก” ไม่ใช่ “หลอกให้เลือกข้อผิด” ดังนั้นต้องเอาข้อสอบจริง มาจำลองนั่งทำ ทำหลาย ๆรอบ นั่งให้ทนหลาย ๆ ชั่วโมงนะคะ ถึงเวลาจริง จะได้ไม่เบลอค่ะ


คะแนนการสอบวัดระดับ JLPT อาจจะไม่ใช่ทุกสิ่งในชีวิตก็จริง แต่ตัวเลขนี้ก็เป็นการการันตีว่า เรามีความพยายาม เราไม่ท้อแค่ไหน สู้ ๆ นะคะ อยากรู้อะไรเพิ่มเติม หน้าไมค์ หลังไมค์ มาได้เลยค่ะ (อ.ปุ๊)


ดู 242 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page