top of page

เสกคันจิเข้าสมองแบบง่ายมาก By. ครูปุ๊


“คันจิ” เป็นไม้เบื่อไม้เมา กับการเรียนภาษาญี่ปุ่นในทุกระดับค่ะ คัดก็ยาก เสียงอ่านก็เยอะ ทั้งเสียงญี่ปุ่น เสียงจีน แถมมาฟิจเจอริ่งกันเอง ได้ความหมายใหม่อีก โอย...


แต่หยุดก่อน คันจิไม่ยากขนาดนั้นค่ะ แค่ต้องขยันจำให้ถูกวิธีเท่านั้น ไม่ต้องหาเหตุผลเยอะ ว่ารูปร่างอันนี้จึงเป็นตัวนี้ เสียงจีนต้องอันนี้เท่านั้น บลา บลา... เพราะสุดท้ายจะเมาและงงเหตุผลไปใหญ่ เพราะพอเรียนไปเรื่อยๆ จะเจออะไรที่อยู่นอกกฎเยอะค่ะ คราวนี้ลองมาดูเคล็ดลับที่ปรับไปใช้ในทุกระดับได้เลย แบบของครูกันดีกว่าค่ะ


1) “คัดจนจำด้วยกล้ามเนื้อมือ”


ใช่ค่ะ คัดวนไปค่ะ คัดจนกล้ามเนื้อที่มือมันจำได้ค่ะ ลองดูซิคะ ลองเขียนคำว่า “あおい” เป็นฮิรางานะดู ต่อให้เราเงยหน้าขึ้นไม่มอง มือของเรายังเขียนในอากาศได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ไม่ต้องมานั่งคิดว่า เส้นแรกลากลง เส้นนี้มีสะบัดปลาย อย่าลืมแต้มอีกเส้น..... เพราะอะไรคะ ก็เพราะเราคัดอักษรตัวนี้วนไปมาจนกล้ามเนื้อมือมันจำได้แล้ว ดังนั้นแค่สมองสั่งมาเป็นเสียง เราก็คัดได้อย่างถูกต้อง


ทดสอบง่ายๆ ด้วยคันจิที่ตัวเองคุ้นเคย ลองให้เขียนเริ่มจากเส้นที่ 3,4 จะเขียนไม่ได้ค่ะ ขอเริ่มเส้นแรกดีกว่า ถ้ารู้สึกแบบนี้เมื่อไหร่ แสดงว่า กล้ามเนื้อมือ มันจำเรียบร้อยแล้วค่ะ


วิธีการ : คัดซ้ำไปเรื่อย ๆ ค่ะ วนไปค่ะ คันจิหนึ่งตัวที่เส้นยาก ๆ ส่วนตัวครูคัดประมาณ 50 ครั้ง กล้ามเนื้อมือถึงจะชิน แต่กล้ามเนื้อมือครูอาจจะไม่ได้ฉลาดมากนะคะ ถ้าใคร 30 ครั้งแล้วโอเค ก็ดีใจด้วยค่ะ มงคลชีวิตกันเลยมีกล้ามเนื้อมือฉลาด บราโว..


2) “คัดเสียงอ่านไปด้วย”


行(い)きます VS 行(おこな)います

หลังจากคัดลำดับเส้นของคันจิ จนเข้าลึกถึงกล้ามเนื้อแล้ว(ดูแนวคุณไสยมาก) คราวนี้เริ่มมาคัดเอาคำศัพท์บ้าง จะได้เอาไปใช้เป็นด้วย


วิธีการ : คัดโดยเขียนเสียงอ่านเป็นฮิรางานะ หรือที่เรียกว่า ふりがなลงไปที่ด้านบนของคันจิด้วย คัดให้เป็นทั้งคำศัพท์ เช่น 行(い)きます(ไป) คัดไปทั้งคำแบบนี้เลยค่ะ ยาวหน่อย แต่ดีและชัวร์ เคล็ดลับคือ เขียนให้หมดคำก่อน ค่อยเต็มเสียงอ่าน เพราะอะไร เพราะคันจิตัวนี้มีแบบนี้ด้วยค่ะ 行(おこな)います(จัดขึ้น) เห็นไหม ตัวหลังเปลี่ยน = เสียงอ่านเปลี่ยน มีกี่คำ กี่เสียง เรียงหน้าเอามาคัดให้หมดไปเลย จำทีเดียว


3) ”ใช้ปากใช้หูมาช่วยจำ”


ใช่ค่ะ มือ ตา ทำงานแล้ว “ปาก” จะอยู่นิ่งๆ สบาย แอบกินขนมได้อย่างไร ทำงานค่ะ “อ่านออกเสียง” ค่ะ


เพราะอะไร เวลาที่เราอ่านไปด้วย หูเราก็ได้ยิน ตาเราก็มองคันจิตัวนี้ พออีกหน่อยเราทำงาน หรือดูโทรทัศน์ แล้วได้ยินคำนี้ ในหัวเราก็จะนึกออกมาเป็นคันจิคำนี้ได้ทันที คราวนี้จะจดโน๊ต จะเลือกหยิบเอกสาร ก็จะก็ทำได้ทันที ไม่ต้องผ่านตัวแปรในหัว(ว่าเป็นตัวไหน) มากนักไงคะ


วิธีการ : อ่านออกเสียงมาดัง ๆ ค่ะ อ่านไปตามคำที่ตัวเองเขียน ไม่ต้องเบิ้ลจำนวนครั้งให้ตัวเองงง อันไหนเสียงยาว เสียงสั้น เสียงกัก ก็ออกเสียงให้ถูกต้องด้วยเลย แล้วหูก็อย่าลืมฟังด้วย ไม่ใช่เสียบฟังเพลงนะคะ (แต่ถ้าอยู่ในที่สาธารณะ แนะนำให้ทำเฉพาะข้อ 1 ก่อนแล้วกัน)


4) “ให้สมองจำความหมาย”


ที่ผ่านมา 3 ข้อ สองหายไปไหน เอาไปคิดเรื่องอาหารมื้อต่อไปก็ใช่เรื่อง เราต้องใช้”สมอง” เพื่อจำอย่างเดียวคือ “ความหมาย” ค่ะ (สมองจำลำดับเส้นไม่ดีเท่ากล้ามเนื้อมือหรอก เชื่อเถอะค่ะ)


วิธีการ : ตอนที่มือคัด ตาดู ปากออกเสียง หูฟัง (ดูชีวิตโหดร้าย) ในช่วงเวลานั้นให้ อัญเชิญสมองมาคิดเรื่องความหมายเลยค่ะ ย้ำลงไป ตอกไปให้ลึก นึกความหมายเป็นภาษาไทย เป็นรูปภาพ เป็นอะไรก็ได้ พอเราได้ยินคำนี้ หรือเห็นคำนี้ปุ๊บ สมองประมวลผล ความหมายออกมาในหัวเลย อันนี้คือดีที่สุดค่ะ


สรุปคือ มือเขียน ตาดู ปากอ่าน หูฟัง สมองคิดความหมาย (ดูเป็นแรงงานทาส น่ารันทด) แต่ครูรับรองว่าได้ผลแน่นอน ผลในที่นี้คือ อ่านออก เขียนได้ ฟังรู้เรื่อง พูดถูก ชัวร์ค่ะ ครบทุกทักษะเลย เห็นไหม


ส่วนตัวครูเป็นคนที่ไม่เน้นปริมาณเลย แล้วก็ไม่เชื่อในวิธีการที่ว่า “กรอกหูเข้าไปเดี๋ยวก็พูดได้เอง” “เขียนๆเข้าไปเดี๋ยวก็จำได้เอง” การเรียนภาษาไม่มีคำว่า “ได้เอง”ค่ะ ครูเชื่อว่า ถ้าเราเรียนด้วย”วิธีที่มีคุณภาพ”แล้วละก็ นอกจากเราจะไม่ลืมแล้ว ยังใช้เวลาไม่เยอะด้วยค่ะ

“ฉลาดแบบมีเวลาเหลือ”ไงคะ (อ.ปุ๊)


#เรียนภาษาญี่ปุ่น #ภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ #ภาษาญี่ปุ่น #สอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น #สอนภาษาญี่ปุ่น #คิดถึงญี่ปุ่น #เรียนต่อญี่ปุ่น #pat73 #jlpt #Dek65 #ภาษาญี่ปุ่นพื้นฐาน #ทุนญี่ปุ่น #โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น #โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นWe

ดู 541 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page